หมวด : MIDDLE EAST / 22-03-2009 Views: 5,425

ประเทศคูเวต



ข้อมูลเบื้องต้น :
ชื่อทางการ สาธารณรัฐคูเวต(Republic of Kuwait) ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 12 ธันวาคม 2506
พื้นที่ ประมาณ 17,818 ตร.กม. (เล็กกว่าจังหวัดกาญจนบุรี : 19,483 ตร.กม.) มีที่ตั้งอยู่ติดกับประเทศซาอุดิอาระเบีย อิรัก และอ่าวเปอร์เซีย
อากาศ แห้งแบบทะเลทราย เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อากาศจะร้อนจัด โดยเฉพาะระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อุณหภูมิอาจสูงถึง 55 องศาเซลเซียส และมีพายุทรายค่อนข้างบ่อย ส่วนฤดูหนาว(ธันวาคม-กุมภาพันธ์) มีอุณหภูมิประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส
ประชากร มีประมาณ 2.65 ล้านคน เป็นชาวคูเวตประมาณ 970,000 คน หรือร้อยละ 36 ของประชากรทั้งหมด และเป็นชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานประมาณ 1.68 ล้านคน หรือร้อยละ 64 ของประชากรทั้งหมด
ภาษา อารบิกเป็นภาษาราชการ
ศาสนา ศาสนาอิสลามร้อยละ 95 (นิกายสุหนี่ร้อยละ 65 นิกายชีอะห์ร้อยละ 30) ศาสนาคริสต์ร้อยละ 4.5 นอกนั้นเป็นศาสนาอื่น สังคมคูเวตถือได้ว่าเคร่งครัดศาสนาเป็นอันดับสองรองจากประเทศซาอุดิอาระเบีย
สกุลเงิน "ดีนาร์คูเวต" (Kuwait Dinar : KD) 1 KD แบ่งออกเป็น 1,000 ฟิลส์ (Fils) อัตราแลกเปลี่ยน 1 KD ประมาณ 3 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 138 บาท
การปกครอง ประชาธิปไตยโดยมีเจ้าผู้ครองรัฐ (Amir) ซึ่งมาจากราชวงส์ อัล-ซาบาห์ เป็นประมุขของประเทศ มีสมาชิกรัฐสภา 50 คน อยู่ในตำแหน่งสมัยละ 4 ปี
เศรษฐกิจ รายได้หลักจากน้ำมันดิบ ถึงร้อยละ 94 โดยมีการส่งออกวันละ 2.5 ล้านบาร์เรล และมีแหล่งน้ำมันสำรอง 9.9 หมื่นล้านบาร์เรล (ร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำมันสำรองโลก)

การเข้าเมือง

Visit Visa

ผู้ประสงค์จะเดินทางไปคูเวต โดยมีวัตถุประสงค์มิใช่เพื่อการทำงาน สามารถเดินทางไปได้โดยขอรับวีซ่าเยี่ยมเยียน (visit visa) ดังนี้

วีซ่าเยี่ยมเยียน (visit visa) มีอายุ 90 วัน และสามารถอยู่ในประเทศคูเวตได้ 30 วัน นับจากวันที่เดินทางเข้าประเทศ
ผู้จะเดินทางไปประเทศคูเวตจะต้องมีบริษัท หรือบุคคลในคูเวตเป็นผู้ค้ำประกัน (Sponsor) โดยในกรณีที่ใช้บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันจะบุคคลผู้นั้นต้องมีรายได้อย่างน้อย 250 KD ต่อเดือนผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอ visa ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศคูเวต โดยใช้สำเนาหนังสือเดินทางของผู้ที่จะเดินทางไปยื่นเรื่องขอรับ visit visa เมื่อได้แล้วก็จะส่งวีซ่าตัวจริงหรือสำเนาวีซ่ามาให้ผู้ที่จะเดินทางใช้เดินทางไปคูเวต แต่ผู้ค้ำประกันจะต้องนำ visa ตัวจริงไปมอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินคูเวต ก่อนเดินทางถึงคูเวต ในกรณีนี้ ผู้เดินทางไม่ต้องไปยื่นคำร้องขอวีซ่าที่สถานทูตคูเวตในประเทศไทย
ผู้เดินทางสามารถขอ visit visa ที่สถานเอกอัครราชทูตคูเวตประจำประเทศไทยก็ได้ แต่อาจต้องใช้เวลาและต้องมีผู้ค้ำประกันในคูเวตด้วยเช่นกัน
Visit visa ไม่สามารถต่ออายุได้ ผู้ใดอยู่ในคูเวตเกินกำหนดจะมีความผิดและไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้จนกว่าจะ จ่ายค่าปรับที่ Immigration Department ในเขตชูเวค (Shuwaikh) ก่อนเดินทางมิใช่ที่สนามบิน
นักธุรกิจอาจขอให้โรงแรมในคูเวตขอ visit visa ให้ได้โดยคิดค่าธรรมเนียมและจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 สัปดาห์
ก่อนเดินทางไปคูเวต

ผู้ที่จะเดินทางไปคูเวต จะต้องได้รับการตรวจร่างกายก่อนว่าปลอดเชื้อโรคต้องห้าม 6 ชนิด จึงจะได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ (Residence Permit) ในคูเวต

เชื้อโรคต้องห้าม 6 ชนิด คือ

โรคปอดขั้นรุนแรง (Active Lung Tuberculosis) หรือวัณโรคเรื้อรัง (Chronic Tuberculosis) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ปอด หรือวัณโรคชนิด Tuberculous Fibrosis
โรค AID/HIV
โรคเท้าช้าง (Filariasis))
โรคมาเลเรีย
โรคตับอักเสบ B (Hepatitis B)
โรคตับอักเสบ C (Hepatitis C)
การทำงานในคูเวต

คนไทยที่จะไปทำงานในคูเวต ต้องมีใบอนุญาตทำงานโดยบริษัทหรือนายจ้างเป็นผู้ขออนุญาตนำชาวต่างชาติเข้าไปทำงาน จากกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมคูเวต เมื่อได้รับอนุญาตแล้วบริษัทหรือนายจ้างก็จะติดต่อกับลูกจ้าง หรือบริษัทจัดหางานในประเทศไทย หากชาวต่างชาติผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้ไปทำงานไม่มีประวัติอาชญากรรมก็จะได้รับ No Objection Certificate หรือ NOC จะสามารถ เดินทางเข้าคูเวตได้ และจะต้องเข้ารับตำแหน่งงานตามที่กำหนดไว้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันเดินทางถึงคูเวต

ถิ่นที่อยู่และบัตรประจำตัว

ผู้ที่จะเดินทางไปทำงาน จะต้องขออนุญาตมีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (Residence visa) และบัตรประจำตัว (Civil I.D. Card) ภายใน 2 เดือน นับแต่วันเดินทางเข้าคูเวต
โดยปกติทางการคูเวตจะอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกินอายุสัญญาจ้าง แต่สามารถขอต่ออายุได้ หากมีการต่อสัญญาจ้างหรือมี Sponsor/นายจ้างคนใหม่
ผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในคูเวตทุกคนต้องมีบัตรประจำตัว (Civil I.D. Card) ซึ่งจะมีอายุเท่ากับระยะเวลาที่ทางการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศคูเวต(Residence Visa) และสามารถขอต่ออายุได้ บัตรประจำตัวนี้จะต้องทำให้เสร็จหลังจากได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่แล้วไม่เกิน 1 เดือน บัตรประจำตัวมีประโยชน์สำหรับการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ
สำหรับผู้ที่ไม่ดำเนินการขออนุญาตมีถิ่นที่อยู่หรือต่ออายุจะถือว่าพำนักอยู่โดยผิดกฎหมาย และอาจได้รับโทษปรับ จำคุก หรือเนรเทศ
ข้อแนะนำ

คูเวตเข้มงวดกับการนำเข้าสิ่งของต้องห้ามอย่างมากโดยจะตรวจกระเป๋าเดินทางทุกใบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ หากพบสิ่งของต้องห้าม จะถูกยึดทันที และอาจมีโทษตามกฎหมาย การทำใบขับขี่ต้องแปลใบขับขี่ไทยเป็นภาษาอารบิกแล้วจึงทดสอบขับรถ
ควรนำรูปถ่ายขนาดต่าง ๆ ติดตัวไป 1-2 โหล คือ ขนาดพาสปอร์ต 4 x 5 ซ.ม. หรือ 3.5 x 4.5 ซ.ม. ใช้ทำ Civil I.D. Card 3 x 4 ซ.ม. ใช้ทำใบขับขี่ 2 x 3 ซ.ม.
ควรนำเงินสด (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ติดตัวไปให้เพียงพอใช้ในช่วงเริ่มต้น เพราะการขอบัตรประจำตัว Civil I.D. Card และการเปิดบัญชีธนาคาร ต้องใช้เวลาใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
ระบบไฟฟ้า 220 - 240 โวลต์ วีดีโอระบบ PAL
อาหารพื้นเมืองประกอบด้วยแป้งและเนื้อสัตว์ (เนื้อวัว แพะ และไก่ เป็นหลัก) อาหารไทยและต่างชาติมีจำหน่ายในท้องตลาดแต่ราคาค่อนข้างสูง
คูเวตมีสภาพอากาศร้อนจัดในฤดูร้อนและค่อนข้างหนาวในฤดูหนาวสำหรับผู้มีบัตรประจำตัวคูเวต กรณีที่มีปัญหาสุขภาพ อาจขอรับการรักษาจากโรงพยาบาลและคลินิกของรัฐได้โดยเสียค่าธรรมเนียมเพียง 1 KD
คูเวตไม่มีระบบไปรษณีย์ส่งจดหมาย การรับจดหมายในคูเวตจะใช้ระบบเปิดตู้ไปรษณีย์ (P.O.Box) ไว้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หรือใช้ตู้ไปรษณีย์ของบริษัทนายจ้าง
คูเวตไม่เรียกเก็บค่าโทรศัพท์ภายในประเทศ แต่โทรศัพท์ระหว่างประเทศต้องเสียค่าบริการซึ่งมีอัตราค่าบริการสูงมากกว่าประเทศไทย
ข้อห้ามและข้อพึงระวัง
ประเทศคูเวตเป็นประเทศมุสลิม ประชาชนในประเทศประมาณร้อยละ 95 นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีข้อห้ามสำคัญ ๆ ดังนี้

ห้ามนำเข้ายาเสพติดทุกประเภท อาทิ ยาบ้า ยาขยัน กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน
ห้ามนำเข้า ผลิต จำหน่าย หรือดื่มสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ห้ามนำเข้าสิ่งลามกอนาจารทุกชนิด อาทิ หนังสือ ภาพ ซีดี วีดีโอที่สื่อในทางเพศ
ห้ามนำเข้าอุปกรณ์การพนันทุกชนิด การเล่นการพนันทุกประเภท รวมทั้งการเล่นหวยเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
ห้ามนำสิ่งของที่มีลักษณะต่อต้าน หรือดูหมิ่นศาสนาอิสลามและชาวอาหรับ
ห้ามนำเข้าเนื้อหมู อาหารหรือผลิตภัณฑ์จากหมู
ไม่ทะเลาะวิวาท แม้แต่ผลักอก หรือเงื้อมือ
หากมีปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานอย่าหยุดงาน เพราะผิดกฎหมาย อาจถูกส่งกลับทันที
ห้ามนำเข้ายามีส่วนผสมของสารเสพติด
ห้ามชาย-หญิง ที่ไม่ใช่สามีภรรยา อยู่ด้วยกันหรือเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันสองต่อสอง การล่วงเกินประเวณีกับหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาตน จะถูกลงโทษอย่างหนัก
ห้ามจับกลุ่มมั่วสุมในศูนย์การค้าจนเป็นที่เดือนร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมไม่ควรเข้าไปในมัสยิด
ในช่วงฤดูถือศีลอด (เดือนรอมฎอน) ห้ามรับประทาน ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะในเวลากลางวันอย่างเด็ดขาด
ควรถ่ายเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้ประจำตัว เช่น หนังสือเดินทาง และสัญญาจ้าง และต้องพกบัตรประจำตัวของคูเวตอยู่เสมอ


หากท่านจะอยู่อาศัยในประเทศคูเวต
เป็นระยะเวลานาน โปรดแจ้งชื่อ และที่อยู่
ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อ
หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต
(Royal Thai Embassy)
Jabriya, Block 6 Street 8, Villa No. 1
P.O.Box 66647 Bayan 43757 Kuwait
โทรศัพท์ (965) 531-7530-1, 531-4870
โทรสาร (965) 531-7532, 534-2099
E-mail : thaiemkw@kems.net

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2575 1046-51โทรสาร 0 2575 1052






ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
สายการบินเอทิฮัดแอร์เวย์ (EY) ประกาศนำเครื่องบินแอร์บัส A380 อันโด่งดังกลับมาให้บริการจากท่าอากาศยานนานาชาติอาบูดาบี (AUH) ...
แอร์แคนาดาประกาศขยายบริการเที่ยวบินไปยังจีนในช่วงฤดูหนาวนี้ โดยตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2024 สายการบินจะเปิดให้บริการเที่ยวบินรายวันจากแวนคูเวอร์ ...
การบินไทยประกาศเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางนาโกยา(ชูบุ) สู่ กรุงเทพฯ(สุวรรณภูมิ) ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคมนี้ พร้อมกลับมาทำการบินรอบดึกจากนาโกยา(ชูบุ) ...
สายการบินเอมิเรตส์ (EK) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) สองฉบับกับสายการบินเวียดนามสองสาย ได้แก่ VietJet Air (VJ) ...
AOT เตรียมเปิดใช้งานระบบไบโอเมตริกสำหรับการเช็กอินและตรวจสอบผู้โดยสารโดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้โดยสารภายในประเทศสามารถใช้งานได้ก่อน ...



visa